การเสือบกิ่งหมากเว่อ เป็นภาษาอีสาน ซึ่งภาษากลางเรียกว่า มะงั่ว สมัยก่อนพื้นที่ทางภาคอีสานจะปลูกกันมาก เอาไว้ใช้ในครัวเรือน มะงั่วจะมีลักษณะคล้ายมะนาว แต่ลูกใหญ่กว่า เปลือกหนารสชาดเปรี้ยว มีขมปนมานิดจากน้ำมันที่เปลือกตอนบีบเอาน้ำ ระยะหลัง ๆ ที่มะนาวเริ่มมีการปลูกกันมากขึ้น ก็ดูเหมือนว่ามะงั่วหรือหมากเว่อ จะค่อย ๆ หายไป หายากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงมะนาวพันธุ์พื้นบ้านที่มีลูกขนาดเล็ก ๆ น้ำก็ไม่ค่อยมาก แต่มีคุณสมบัติโดดเด่นคือ เปลือกมีกลิ่นหอมมาก และไม่มีรสขมเลยปนมากับน้ำ ถ้าเป็นเมนูส้มตำสามารถใส่ได้ทั้งเปลือกเลยก็ได้
เมื่อประมาณวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ผมมีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านที่ร้อยเอ็ด เนื่องจากแม่ไม่สบายต้องไปเยี่ยมท่าน การเดินทางก็ใช้รถประจำทาง เพราะรถยนต์มีความจำเป็นต้องใช้ที่บ้านรับ-ลูกไปเรียนพิเศษ เราก็เลยต้องใช้บริการรถประจำทาง โดยขี่มอเตอร์ไซต์มาจอดไว้ที่สถานีขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี แล้วขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน การเดินทางก็สะดวกดี แต่ปัญหาอย่างเดียวคือเราไม่สามารถขนของกลับได้มาก
หลังจากที่เยี่ยมแม่เสร็จ ก็ต้องเดินทางกลับมาทำงานตามปกติ พบว่าที่บ้านของพ่อ-แม่ เขาปลูกมะนาวพื้นบ้านไว้ต้นใหญ่มาก และอีกต้นก็เป็นต้นมะงั่ว เลยมีความรู้สึกว่าอยากได้พันธุ์มาอนุรักษ์ไว้ จะใช้วิธีไหนดี เพราะตอนก็คงไม่ทัน ต้นเพราะเมล็ดก็ไม่มี เลยคิดว่า ตัดกิ่งห่อใส่กระดาษชุบน้ำและใส่ในถุงหูหิ้วกลับมาเพื่อเสียบกิ่งมะนาวที่บ้านน่าจะดี คือไม่ต้องเอามาเยอะ ตัดเป็นท่อน ๆ แล้วนำกลับมาด้วย กลับมาถึงอุบล ก็ค่ำแล้ว เลยยังไม่มีเวลาเสียบกิ่ง จนถึงตอนเช้าก็เลยเอามาลองดูเสียบ โดยต้นตอเป็นมะนาวไร้เมล็ดทูนเกล้า ที่เราเพิ่งตัดกิ่งตอนออก เหลือตอกิ่งอยู่พอดี ก็เลยได้โอกาสจัดการเสียบไปพร้อม ๆ กันทั้งมะนาวพื้นบ้าน และมะงั่วตามรูปนี้
เสียบยอดไปตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2567 โดยใช้เทปพันกิ่ง มัดให้ตึงด้วยเชือกฟางเพื่อให้แผลเขาติดกันสนิท ครอบด้วยถุงพลาสติกกันการคลายน้ำ และครอบทับอีกครั้งด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์กันแดดเผา ผ่านไป 2 สัปดาห์กว่า ๆ เอากระดาษหนังสือพิมพ์ออก เพื่อเปิดดูว่ากิ่งยังสดอยู่ไหม
พบว่ากิ่งด้านขวา (น่าจะเป็นมะงั่ว ลืมติด Label ซะงั้น) เริ่มมีการแทงยอดขึ้นมา 2 ยอด ก็เลยสายมัดตัดถุงครอบออก แต่ยังครอบถุงไว้ก่อน ช่วงนี้พายุยางิ กำลังเข้าฝนตกค่อนข้างหนัก กลัวว่าน้ำฝนจะทำยอดหัก อีกอย่างให้เขาได้ปรับตัวกับอากาศนอกถุงไปด้วยในตัว
พอดีเห็นยอดแบบนี้ รู้สึกมีกำลังใจนะ เราเองไม่ได้เสียบยอดกิ่งมะนาวมาระยะหนึ่ง ก็ลืม ๆ ว่าต้องทำอย่างไร แต่ก็พอจะจำได้อยู่บ้าง จากการสังเกตกิ่งที่ยังมีสีเขียวผสมเขียวแก่ ๆ นิดหน่อย จะเสียบยอดและติดง่ายกว่ากิ่งที่แก่ ๆ หรืออ่อนจัด นี่น่าจะเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งของการเลือกกิ่งมาทำการเสียบยอด
หวังว่าหลังจากเปิดถุงให้ปรับอากาศกิ่งจะยังเจริญเติบโตต่อไปได้ อย่างน้อยเราจะได้มีกิ่งพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ไว้ขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งนับว่ามันจะหายากมากขึ้นทุกที